top of page
20190803_144512.jpg
20190803_150718.jpg
20190803_144949.jpg

ATPER 2019  

สมาชิกกลุ่มตีปีกร่วมนำเสนอผลงานในงาน ATPER2019

งานประชุมประจำปีของสมาคมนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรป ATPER2019 จัดขึ้น ณ โรงแรม Courtyard Dueüsseldorf Seestern เมือง Düuesseldorf ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2562 ภายใต้หัวข้องาน “Applied Research and Innovation for Thailand 4.0” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สถานเอคอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

เริ่มงานด้วยการกล่าวรายงานการจัดการประชุมของ ศ.ดร. ปรเมษฐ์ มนูญพงศ์ นายกสมาคมนักวิชาชีพไทยในภูมิภาคยุโรป จากนั้น ดร.ธีรวัฒน์ ภูมิจิตร เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และ ดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และได้รับเกียรติจาก นพ.ปฐม สรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวเปิดการประชุมฯ พร้อมให้การบรรยายพิเศษถึงโครงสร้าง และพันธกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) ซึ่งเป็นกระทรวงที่ได้รับการปรับโครงสร้างใหม่ เกิดขึ้นจากการรวมกันของกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (วท.) รวมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้มีการบรรยายพิเศษถึงแผนและการเตรียมความพร้อมด้านการเรียนการสอนรับกับโลกอนาคตของหน่วยงานการศึกษาไทยโดย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปีจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ คุณลักขณา ดอกเขียว ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ และความพร้อมของหน่วยงานวิจัยในประเทศไทยสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทรโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ตามด้วยการนำเสนอภาคบ่ายโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด มหาชน ทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เครือข่ายการลงทุนและธุรกิจ พร้อมกันนี้ทางบริษัทฯ มีการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ที่มีแนวความคิดทางนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ โดย คุณสยาม โชคสว่างวงศ์ Vice President for Administrative Affairs รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับโอกาสและสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนในไทย ผ่าน BOIจาก ดร.รัชนี วัฒนวิศิษฏพร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจาก BOI หากการลงทุนนี้สอดคล้องกับ 13 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และทำการลงทุนในเขตนวัตกรรม ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation; EECi) โดยรายละเอียดของโครงการ EECi ได้รับการบรรยายโดย ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) พร้อมกันนี้ท่านได้บรรยายร่วมในหัวข้อ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเทคโนโลยีอันเกิดจากโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับ รศ.ดร. ประสาทพร สมิตะมาน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่การนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมประชุมจัดในรูปแบบ parallel sessions of poster presentation มีผู้ร่วมนำเสนอทั้งหมด 15 ท่าน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอภิปราย ได้แก่ Innovation, Biotechnology and Health Science และ Manufacturing Industry and Smart Logistics

 

งานประชุมในครั้งนี้ได้มีการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ทั้งในระหว่างการนำเสนอผลงาน และระหว่างกิจกรรมต่างๆ ที่ทาง ATPER ได้จัดขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาและการวางแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งจากผู้นำเสนอผลงาน ผู้เข้าร่วมประชุม หน่วยงานในประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ตลอดจนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ วิชาชีพ กอปรกับเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่จากโลกตะวันตก(ภูมิภาคยุโรป) กลับสู่ประเทศไทย เพื่อเร่งพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันร่วมกับพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

67643559_2605117789512175_65877919329220
20190803_150718.jpg
20190803_144949_edited.jpg
20190803_144512.jpg

Reported by

Chiraphat Kumpidet

Head of TPIEC Public Relations (PR)

Chiraphat.jpg
bottom of page