
การสมัครงานในเยอรมนี
ตอนที่ 3 – คำถามในการสัมภาษณ์
เขียนโดย วัชรพล ยังยืน (เบนซ์)
September, 2020
10 คำถามในการสัมภาษณ์งานกับบริษัทในเยอรมนี
1. การแนะนำตัวเอง
ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการให้ผู้สมัครแนะนำตัว ซึ่งตอนนี้จะเป็นโอกาสของผู้สมัครในการนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเราเองว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานและบริษัทอย่างไรบ้าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สมัครเองกำหนดทิศทางในการสัมภาษณ์ด้วย
เพื่อให้ง่ายขึ้น ผู้สมัครอาจจะลองจัดลำดับการพูดให้เหมือนเวลาเรากำหนดโครงร่าง (outline) เพื่อที่จะเขียนบทความหรือการเขียน motivation letter โดยปกติแล้วควรจะต้องเขียนให้ไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ เราจึงควรที่จะเน้นแต่จุดสำคัญๆ เช่น อาจเริ่มด้วยการศึกษา ต่อด้วยประสบการณ์ และความสามารถพิเศษ โดยให้ความสำคัญกับส่วนที่เราคิดว่าเหมาะสมกับตำแหน่งงานและบริษัทที่เรากำลังสัมภาษณ์
ผู้สมัครควรฝึกซ้อมการพูดเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ เน้นเชื่อมโยงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่เราสมัครไป


2. คำถามเกี่ยวกับบริษัท
ผู้สัมภาษณ์อาจจะเริ่มด้วยการถามผู้สมัครว่ารู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทนี้บ้าง เพื่อดูว่าผู้สมัครมีการเตรียมความพร้อมดีระดับใด รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าผู้สมัครต้องการทำงานที่บริษัทนี้จริงๆ ข้อมูลที่ผู้สมัครควรเตรียมพร้อม เช่น
-
ภาพรวมของบริษัทมีธุรกิจอะไรบ้าง ขนาดของแต่ละธุรกิจเป็นอย่างไร
-
จุดเด่นของบริษัทหรือบริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งใด (value of company)
-
สถานการณ์ธุรกิจของบริษัท
-
ภาพรวมตลาดในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง
ผู้สมัครควรฝึกซ้อมตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลที่เราเตรียม รวมทั้งเตรียมตัวอย่างเพื่อเชื่อมโยงคำตอบนั้นๆ กับประสบการณ์ของตัวผู้สมัครเอง เช่น หากบริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สมัครเองก็ให้ความสำคัญ ดังนั้นผู้สมัครควรที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่เราให้ความสำคัญกับตัวอย่างสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง
3. จุดแข็งของผู้สมัคร
ผู้สมัครควรเตรียมจุดแข็งประมาณ 3 ข้อ พร้อมทั้งยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้น โดยทั้ง 3 ข้อนั้นควรจะเป็นเรื่องที่สนับสนุนตำแหน่งงานที่เราสมัครไป ให้ดูว่าทางบริษัทได้ระบุหรือเน้นว่าผู้สมัครต้องมีทักษะใดบ้างในการที่จะเข้าไปทำงานตำแหน่งนั้น
ผู้สมัครควรเตรียมลำดับคำตอบไว้ด้วย ในกรณีที่ผู้สัมภาษณ์ถามแค่ 1 ข้อ ให้เราเลือกข้อที่คิดว่าเด่นที่สุดและสนับสนุนกับตำแหน่งงาน หรือหากผู้สัมภาษณ์ถามทั้ง 3 ข้อ ให้เรียงข้อที่เด่นและสำคัญที่สุดไว้ลำดับท้าย เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์จำเราและจุดเด่นของเราได้
4. จุดอ่อนของผู้สมัคร

เช่นเดียวกันกับเรื่องของจุดแข็ง ผู้สมัครควรเตรียมจุดอ่อนประมาณ 3 ข้อ พร้อมทั้งยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้น
ในปัจจุบัน เบนซ์ว่าบริษัทไม่ค่อยถามคำถามเรื่องจุดอ่อนของผู้สมัครแล้ว เพราะรู้ว่าผู้สมัครมีการเตรียมตัวมา ในกรณีที่ผู้สัมภาษณ์ถามนั้น ผู้สมัครควรสังเกตว่าผู้ที่สัมภาษณ์เราดูมีลักษณะอย่างไร อายุมากหรือน้อย ชอบความจริงใจหรือเปิดเผยแค่ไหน
ส่วนใหญ่ผู้สัมภาษณ์จะคาดได้ว่า แนวทางการตอบของผู้สมัครจะเป็นการพลิกแพลงจุดอ่อนให้ไปในด้านบวก ดังนั้นเราอาจจะพูดถึงจุดอ่อนในอดีตหรือจุดอ่อนที่เรากำลังแก้ไขอยู่ เช่น ผู้สมัครอาจจะไม่ค่อยออกความเห็นหรือพูดตรงๆในที่ประชุม เนื่องจากมีความแตกต่างในเรื่องของวัฒนธรรม แต่เมื่อมีการพัก (coffee break) ก็เข้าไปพูดคุยเพื่อแสดงความเห็นและทำความเข้าใจ หรือหาทางอื่น เช่น ส่งอีเมลล์ หรือ ขอคุยกับหัวหน้าเป็นการส่วนตัว
5. ช่วงว่าง (Gap) ใน CV
หากลำดับเวลาประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครมีช่วงเวลาที่กระโดด ส่วนใหญ่ถ้าหากเกิน 3 เดือน ผู้สัมภาษณ์อาจสงสัยและมีคำถาม เช่น เกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้น ได้ทำอะไรบ้าง ให้ผู้สมัครเตรียมคำตอบเพื่ออธิบายถึงช่วงเวลาเหล่านั้น เช่น เกิดจากเหตุผลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวหรือสุขภาพ หรือ มีการจัดตั้งบริษัทแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือ พยายามสมัครงานแต่ช่วงนั้นสถานการณ์ตลาดไม่ค่อยดี
เบนซ์ไม่อยากให้ผู้สมัครกังวลหรือกลัวที่จะอธิบาย เพราะเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์เข้าใจได้
6. ทำไมถึงลาออกจากที่ทำงานเก่า
ผู้สมัครควรบอกเหตุผลในการลาออกจากที่ทำงานเดิม เช่น ต้องการเปลี่ยนสายงาน ต้องการหาประสบการณ์หรือความท้าทายใหม่ๆ หรือ ต้องการทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียง
ผู้สมัครสามารถพูดถึงเหตุผลในการลาออก ซึ่งอาจเป็นเรื่องของบริษัทหรือเพื่อนร่วมงานที่ขัดกับบุคลิกลักษณะของผู้สมัคร เช่น ระบบการจัดการของบริษัทมีความซับซ้อนและไม่เป็นระเบียบ ซึ่งขัดกับตัวผู้สมัครที่เป็นคนชอบการจัดการที่เป็นระบบและมีระเบียบ ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดและมีผลกระทบกับการทำงาน หรือความเป็นผู้นำของหัวหน้าไม่ตรงกับที่เราคาดหวัง จึงได้ลาออก
แต่ผู้สมัครไม่ควรพูดถึงบริษัทหรือคนที่เคยทำงานด้วยในทางที่ไม่ดี เชิงนินทาหรือใส่อารมณ์ เช่น หัวหน้าเป็นคนอารมณ์ไม่ดี ชอบดูถูกพนักงาน บริษัทเอาเปรียบพนักงาน

7. ความผิดพลาดในชีวิตของผู้สมัครคืออะไร
ผู้สัมภาษณ์อาจถามถึงเรื่องอดีต หรือคำถามอื่นเพื่อดูวิธีการจัดการในการแก้ปัญหาของผู้สมัคร เช่น
-
เรื่องที่ท้าทายที่สุดในชีวิต
-
เหตุการณ์ที่ทำให้มีความสุขหรือเศร้ามากที่สุด
-
สิ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิต
-
มีสิ่งที่อยากแก้ไขในอดีตหรือไม่ อะไรบ้าง
โดยผู้สมัครควรที่จะอธิบายเหตุการณ์พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความผิดพลาด และตัวผู้สมัครได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งจะช่วยป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการเกิดความผิดพลาดเช่นนี้อีกในอนาคต
เบนซ์แนะนำให้เตรียมคำตอบไป ถึงแม้จะเป็นเรื่องความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ แต่ยังดีกว่าที่ผู้สมัครไม่ได้เตรียมไปแล้วตอบว่าเราไม่เคยทำผิดพลาดอะไรเลย
8. เห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีหรือ 10 ปี

คำถามนี้แสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราจะอยู่กับเค้าได้นานแค่ไหน เราอยากจะพัฒนาตัวเองอย่างไร แรงบันดาลใจของผู้สมัครคืออะไร เป้าหมายของเราเป็นอย่างไร ตรงกับทีมหรือบริษัทมากน้อยแค่ไหน
เวลาผู้สมัครตอบคำถาม เบนซ์แนะนำให้ยกตัวอย่างในสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น ในกรณีที่เราเคยมีประสบการณ์การทำงานมาบ้างแล้ว ในอีก 5 ปี ผู้สมัครอยากจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้จัดการ (manager) หรือผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (senior specialist) ในด้านนี้ ซึ่งในกรณีที่เราไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาเลย การที่จะก้าวไปเป็นผู้จัดการใน 5 ปี ความเป็นไปได้อาจจะดูน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
เบนซ์คิดว่าส่วนใหญ่ผู้สัมภาษณ์ก็แอบหวังหรืออยากได้ยินว่า เราต้องการที่จะทำงานสายเดิมหรือสายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเค้าในระยะยาว แต่เป็นในระดับที่สูงขึ้น ในกรณีที่เค้าเลือกเราเข้าไปทำงาน
9. หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเก่าจะอธิบายตัวคุณว่าอย่างไร
ผู้สมัครอาจจะตอบคำถามนี้โดยเริ่มจากการถามหัวหน้าเก่าหรือเพื่อนที่เคยทำงานด้วยกัน แล้วเปรียบเทียบคำตอบที่ได้กับสิ่งที่เรามองตัวเองไว้ว่าตรงกันหรือไม่ ในกรณีที่คำตอบไม่ตรงกัน ผู้สมัครควรหาคำตอบให้ได้ว่าสิ่งที่แตกต่างนั้นเกิดขึ้นจากอะไร พยายามแก้ไขสิ่งนั้น หรือถามตัวเองว่าทำไมเป็นแบบนั้น
ตอนที่สัมภาษณ์ เบนซ์แนะนำให้ผู้สมัครเลือกตอบในสิ่งที่ตัวเราและคนอื่นมองตรงกันว่าเราเป็นคนแบบนั้น หากสิ่งที่หัวหน้าหรือเพื่อนบอกมา เป็นจุดแข็งที่จะสนับสนุนตำแหน่งงานที่เราสมัคร เช่น เป็นคนทำงานเป็นทีมได้ดี ให้เราเน้นว่าทำไมเราถึงเหมาะสมกับงานนี้
10. คำถามเรื่องมุมมองของผู้สมัคร

ตัวอย่างคำถามเรื่องมุมมองของผู้สมัคร เพื่อดูถึงความคาดหวังของผู้สมัครว่าเหมาะสมหรือตรงกับทีมหรือบริษัทมากน้อยแค่ไหน เช่น
-
งานที่คิดว่าดีที่สุด (perfect job) มีลักษณะแบบไหน
-
หัวหน้าหรือทีมที่ดี (ideal employer or team) ในความคิดของเรามีลักษณะอย่างไร
ผู้สมัครอาจจะเตรียมคำตอบโดยพูดถึงสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น ชอบหัวหน้าที่มีการแจ้งหรือตำหนิเมื่อเราทำสิ่งใดไม่ถูกต้อง และชื่นชมเมื่อเราทำสิ่งใดได้ดี
คำถามที่ผู้สัมภาษณ์ไม่ควรถามผู้สมัคร
อย่างที่เบนซ์เคยบอกไปว่า ในเยอรมนีนั้นมี Equal treatment law เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ขึ้น ดังนั้นหากผู้สัมภาษณ์มีคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ศาสนา การเมือง สถานะแต่งงาน หรือการวางแผนครอบครัวในอนาคตของผู้สมัครนั้น ผู้สมัครสามารถเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามได้ ซึ่งผู้สมัครควรประเมินจากสถานการณ์ในตอนนั้นว่าควรตอบอย่างไรไป เช่น ขอไม่ตอบเนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัว
แต่ในบางกรณีนั้นผู้สัมภาษณ์อาจจะถามได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร เช่น คนขับรถ อาจจะมีคำถามในเรื่องโรคประจำตัว คดีติดตัว หนี้สิน หรือถามสัญชาติเนื่องจากต้องดำเนินการทำเรื่องขอใบอนุญาตทำงาน (work permit)
สำหรับผู้สมัครที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว ผู้สัมภาษณ์อาจจะมีคำถามเพิ่มเติม เนื่องจากต้องการให้โอกาสในการทำงาน

เบนซ์แนะนำ:
-
1. การเตรียมคำตอบที่ดี ควรให้สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทมองหาว่าต้องการผู้สมัครที่มีทักษะอะไรบ้าง โดยสามารถดูได้จากประกาศรับสมัครงานนั้นๆ เบนซ์แนะนำให้ผู้สมัครไล่ดูว่า ทักษะที่เรามีนั้นตอบโจทย์หมดหรือไม่ หรือมีอะไรที่เพิ่มเติมกว่าสิ่งที่เค้ามองหาเป็นพิเศษ
-
-
2. คำตอบที่เตรียมควรมาจากตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ผู้สมัครอาจนำตัวอย่างคำตอบที่หาข้อมูลมาจากหลายๆที่ มาปรับให้ตรงประสบการณ์ของตัวผู้สมัครเอง
-
-
3. คำถามที่เกี่ยวกับปัญหา ข้อผิดพลาด ควรที่จะให้ความรู้สึกบวก เช่น เรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้น หรือถ้าเป็นข้อผิดพลาดในปัจจุบัน ผู้สมัครควรที่จะอธิบายว่ากำลังพยายามแก้ไขสิ่งเหล่านั้นอย่างไร
-
-
4. พยายามนำเสนอและสื่อสารภาพลักษณ์ตัวตนของผู้สมัครให้ผู้สัมภาษณ์รับรู้และเกิดการจดจำที่ดี ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้น เบนซ์อยากให้เปรียบเทียบเหมือนเรากำลังขายสินค้าชิ้นหนึ่ง เราต้องดูว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร เค้ากำลังมองหาสิ่งใดอยู่ แล้วเราควรจะมีกลยุทธ์อะไรในการขาย จุดขายเรา (unique selling point) คืออะไร แล้วมองในมุมกลับกัน ถ้าเราเป็นผู้ซื้อ เราจะซื้อสินค้าชิ้นนี้มั้ย
Written by
Watcharaphon Yangyuen
Executive Assistant - HR
