top of page

การสมัครงานในเยอรมนี

ตอนที่ 2 – การเตรียมตัวสัมภาษณ์  

เขียนโดย วัชรพล ยังยืน (เบนซ์) 

August, 2020

10 คำถามสำหรับการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานกับบริษัทในเยอรมนี 

 

1. ระยะเวลานานเท่าไหร่  ก่อนจะถูกนัดเรียกสัมภาษณ์

หลังจากส่งใบสมัครแล้ว ให้ผู้สมัครรออีเมลล์ตอบรับสำหรับขั้นตอนถัดไป  โดยระยะเวลานั้นจะขึ้นอยู่กับคนที่จัดหาพนักงาน (recruiter) หรือตำแหน่งที่เราสมัคร รวมถึงวันหมดเขตรับสมัคร 


หากเราส่งใบสมัครไปแล้วและได้อีเมลล์ตอบกลับมาว่า ทางบริษัทได้รับใบสมัครของเราและจะติดต่อกลับ ในกรณีนี้ให้เรารอจนถึงวันหมดเขตรับสมัคร ปกติแล้วเบนซ์ว่าประมาณ 2 อาทิตย์ ถ้ายังไม่ได้รับคำตอบ เราสามารถส่งอีเมลล์ไปสอบถามหรือโทรศัพท์ไปที่บริษัทนั้นๆ เพื่อสอบถามถึงกระบวนการหรือผลตอบรับ 

Calendar

ในกรณีที่ส่งไปแล้วแต่ไม่ได้รับอีเมลล์ตอบกลับว่าทางบริษัทได้รับใบสมัครของเราหรือไม่  ประมาณ 2 อาทิตย์หลังจากที่เราส่งใบสมัคร   

ผู้สมัครควรติดต่อทางบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าใบสมัครของเราได้ถูกส่งถึงบริษัท และทางบริษัทกำลังพิจารณาใบสมัครของเราอยู่หรือไม่


หากเราได้รับคัดเลือกให้ไปสัมภาษณ์  ในอีเมลล์ที่คนที่จัดหาพนักงาน (recruiter) ส่งมาเพื่อนัดเราสัมภาษณ์นั้นจะประกอบไปด้วยวัน เวลา สถานที่ รวมทั้งชื่อผู้สัมภาษณ์  เพื่อเป็นมารยาทที่ดี ผู้สมัครควรจะตอบอีเมลล์กลับไป ทั้งในกรณีที่ตกลงหรือปฎิเสธที่จะไปสัมภาษณ์
 

เบนซ์แนะนำ: ให้ผู้สมัครรอประมาณซัก 2 อาทิตย์หลังจากส่งใบสมัครหรือวันหมดเขตรับสมัคร หากยังไม่ได้รับคำตอบให้ส่งอีเมลล์หรือโทรศัพท์ไปสอบถามที่บริษัท กรณีที่ได้รับอีเมลล์นัดสัมภาษณ์ เบนซ์แนะนำให้ตอบกลับไม่ว่าเราจะไปหรือไม่ไปสัมภาษณ์ก็ตาม  

Brainstorming

เบนซ์แนะนำ: ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่จะมาสัมภาษณ์เราให้ได้มากที่สุด เช่น จาก Google หรือ LinkedIn เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่ดีในวันสัมภาษณ์  หากในอีเมลล์ที่บริษัทส่งมาไม่ได้ระบุชื่อไว้  เราอาจจะส่งอีเมลล์ตอบรับกลับไป รวมทั้งถามถึงชื่อผู้สัมภาษณ์

2. ใครเป็นผู้สัมภาษณ์ผู้สมัคร

ในอีเมลล์ที่ทางบริษัทส่งมานั้นจะมีชื่อผู้ที่จะสัมภาษณ์เราด้วย  เพื่อให้ง่ายและสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยในวันสัมภาษณ์  ผู้สมัครควรศึกษาหาข้อมูลก่อนเพื่อหาความเชื่อมโยงกับตัวเองและนำไปใช้ต่อยอดในการพูดคุยได้ เช่น เมืองที่เคยอยู่ คณะที่เคยศึกษา งานที่เคยทำ งานอดิเรก หรือภาษาที่สาม 


สำหรับคนที่มาสัมภาษณ์นั้น มักจะเป็นระดับผู้จัดการในทีมที่เราจะเข้าไปทำงานด้วย รวมทั้งคนที่จัดหาพนักงาน (recruiter) หรืออาจจะเป็นแค่คนใดคนหนึ่ง  ซึ่งบางครั้งเนื่องจากมีผู้สมัครเยอะ อาจจะมีการสัมภาษณ์หลายรอบเพื่อทำการคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมก่อน  แต่ในบางกรณี ทางบริษัทอาจจะขอสัมภาษณ์ทางวิดีโอคอลผ่านสไกป์ (Skype) ก่อนก็เป็นได้   โดยส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่ผู้สัมภาษณ์อยู่ต่างประเทศ ผู้สมัครเยอะ หรือทางบริษัทต้องการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

 

3. รูปแบบการสัมภาษณ์มีแบบไหนบ้าง

ขั้นตอนหลักๆในการสัมภาษณ์นั้นมีอยู่ 2 แบบ หนึ่งคือ การสัมภาษณ์ทั่วไป (classical interview) และสองคือ การทดสอบในรูปแบบต่างๆ (assessment center) ได้แก่

  • การนำเสนอ (presentation) – เป็นการวัดทักษะภาษา รวมทั้งการสื่อสารของผู้สมัคร โดยทางบริษัทจะมีหัวข้อ เช่น แนวโน้มธุรกิจหรือเศรษฐกิจ หรือให้ข้อมูลในรูปแบบตาราง กราฟ ซึ่งจะให้เวลาผู้สมัครเตรียมตัวประมาณ 15 นาทีเพื่อทำการอธิบาย หรืออาจจะให้เตรียมตัวล่วงหน้า โดยส่งหัวข้อและเวลาที่ต้องนำเสนอมาในอีเมลล์ที่นัดสัมภาษณ์

  • เกมส์หรือภารกิจ (task) – อันนึงที่เป็นธรรมเนียมของเยอรมันนั้นคือ การจัดเรียงอีเมลล์ (email sorting) ซึ่งบริษัทต้องการดูว่าผู้สมัครจัดการกับเวลาที่ให้ไปอย่างไร ทำงานหรือคิดอย่างเป็นระบบหรือไม่ โดยไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด เพียงแต่ผู้สมัครต้องอธิบายได้ว่ามีกระบวนการจัดเรียงอย่างไร เช่น อ่านอีเมลล์ทั้งหมดก่อนแล้วค่อยจัดเรียง หรืออ่านไปจัดเรียงไป

  • การพูดคุยเป็นกลุ่ม (discussion) – เป็นการดูบุคลิกลักษณะของผู้สมัคร โดยทางบริษัทจะให้หัวข้อมาให้พูดคุยในกลุ่ม

  • การแสดงบทบาทสมมติ (role play) – ทางบริษัทอาจจะจำลองสถานการณ์ เช่น ให้ทำการต่อรองราคากันโดยมีผู้ซื้อและผู้ขาย หรือ call center ที่มีลูกค้าที่โมโหแล้วโทรมาหา

  • การทดสอบความถนัด (aptitude test) – การทดสอบนี้จะดูทั้งบุคลิกลักษณะของผู้สมัคร ไหวพริบ การคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลผ่านคำถามต่างๆ เช่น ผู้สมัครให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากันระหว่างการทำงานเป็นทีมหรือทำงานคนเดียว ปริมาณหรือคุณภาพ   ในส่วนของการวัด IQ อาจจะมีการทดสอบความจำ รวมทั้งการคิดคำนวณ เช่น ให้เติมเลขที่หายไป (number sequence)  คำนวณตัวเลขจากกราฟ (graph interpretation)

 

เบนซ์แนะนำ: ให้ผู้สมัครดูตำแหน่งงานที่เราสมัครไป โดยอาจจะลองสอบถามข้อมูลจากผู้ที่ทำงานลักษณะเดียวกันถึงการสัมภาษณ์ เพื่อจะได้ทำการเตรียมตัวก่อน  ผู้สมัครสามารถเตรียมตัวและฝึกฝนจากข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่าแต่ละการทดสอบเป็นอย่างไร รวมทั้งแนวทางการตอบ และข้อสอบตัวอย่าง (mock exam)

4. ขั้นตอนสัมภาษณ์เป็นอย่างไรบ้าง

clock-outline-filled-128x128.png

เริ่มต้นด้วยการต้อนรับจากทางผู้สัมภาษณ์  สิ่งที่เบนซ์อยากเน้นเลยก็คือ การจับมือ การมองหน้า เนื่องจากสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในการสัมภาษณ์ลำดับต่อไปได้ อาจจะฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาและง่ายนะ แต่จากที่เบนซ์เคยเจอหรือฟังคอมเมนท์จากผู้สัมภาษณ์ มีเรื่องจับมือไม่แน่น เหมือนแค่เอามือไปวางเฉยๆ ทำให้ดูไม่มั่นใจ หรือจับหรือบีบแรงเกินไปก็ทำให้เจ็บ ลำดับถัดมาจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไป (small talk) เพื่อสร้างบรรยากาศเป็นกันเอง หลังจากนั้นทางบริษัทอาจจะเริ่มแนะนำตัวบริษัทเองก่อนแล้วจึงให้ผู้สมัครทำการแนะนำตัวเอง  ซึ่งผู้สมัครอาจจะเริ่มด้วยการสรุปคร่าวๆจาก CV ที่ส่งไป เลือกจุดเด่นๆมาเป็นจุดขายของเรา เช่น เคยมีประสบการณ์ทำงานจากต่างประเทศ สร้างยอดขายอย่างก้าวกระโดด หรือมีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์

**คำถามจากทางผู้สัมภาษณ์ เบนซ์จะขอแยกเขียนเป็นตอนต่อไป เพราะเบนซ์คิดว่ามีรายละเอียดที่เบนซ์อยากพูดถึงเยอะ

 

หลังจากหมดคำถาม ทางผู้สัมภาษณ์จะถามเราว่ามีเรื่องอะไรจะถามมั้ย  (เบนซ์ขอแยกเขียนไว้อยู่ในข้อที่ 6.คำถามที่ควรถามผู้สัมภาษณ์มีอะไรบ้าง) และจบลงที่แยกย้ายกัน อาจจะมีการพูดคุยเรื่องทั่วไป (small talk) อีกนิดหน่อย รวมทั้งจับมือ

 

เบนซ์แนะนำ: เบนซ์อยากเน้นเรื่องจับมือ และมองหน้าผู้สัมภาษณ์  ทำยังไงให้เค้ารู้ว่าเรามั่นใจ สิ่งสำคัญคือ ต้องจำสิ่งที่ตัวเองเขียนลงไปใน CV  และ motivation letter ได้ทั้งหมด   เบนซ์แนะนำว่าก่อนไปสัมภาษณ์ให้ลองซ้อมกับเพื่อนดูก่อน  เพื่อที่วันสัมภาษณ์จริงจะได้พูดไม่ตะกุกตะกักหรือใช้เวลาคิดนาน  โดยให้เพื่อนช่วยดูเรื่องบุคลิกลักษณะเราไปด้วย เราอยากให้ตัวเองดูลักษณะเป็นแบบไหน แล้วสิ่งที่เราทำตอบโจทย์นั้นมั้ย  ซึ่งก่อนหรือระหว่างที่ทางบริษัทแนะนำตัวบริษัทเอง ผู้สุัมภาษณ์อาจจะมีการถามผู้สมัครว่ารู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทบ้าง ดังนั้นเบนซ์แนะนำว่าให้เตรียมหาข้อมูลไปด้วย

5. Small talk จะคุยเรื่องอะไรดี

ส่วนใหญ่ผู้สัมภาษณ์จะชวนเราคุย ถามว่าเป็นยังไงบ้าง เรื่องอากาศ หรือการเดินทางมาสัมภาษณ์ เหนื่อยมั้ย ใช้เวลาเดินทางนานมั้ย  หากผู้สมัครขับรถมาเอง เค้าอาจจะถามว่าหาบริษัทยากมั้ย  ซึ่งก็ให้เราตอบแบบสบายๆไป

  

เบนซ์แนะนำ: หากเรามีข้อมูลของผู้สัมภาษณ์ เราอาจจะพยายามพูดเข้าเรื่องนั้น เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี

6. คำถามที่ควรถามผู้สัมภาษณ์มีอะไรบ้าง

เบนซ์ว่าคำถามนี้สำคัญและมีส่วนช่วยให้ตัวผู้สมัครเองดูมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นได้นะ  ก่อนการสัมภาษณ์จะจบลง  ส่วนใหญ่ผู้สัมภาษณ์ก็จะถามผู้สมัครว่ามีอะไรจะถามเพิ่มมั้ย  ซึ่งเบนซ์บอกได้เลยว่าควรมีคำถาม ยกตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับงาน เช่น

  • รายละเอียดของงานที่เราจะเข้าไปทำ 

  • เงินเดือนและผลประโยชน์ที่เราจะได้รับมีอะไรบ้างบ้าง

  • Work life balance ของการทำงานที่นี่เป็นอย่างไร เริ่มงานหรือเลิกงานกี่โมง  

  • มีนโยบายเรื่องการทำงานล่วงเวลาเป็นอย่างไร เช่น สามารถแลกเป็นเงินหรือวันหยุดได้มั้ย

  • สามารถทำงานนอกสถานที่หรือที่บ้านได้มั้ย

clipboard-list-outline-filled-128x128.pn

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดนะว่าไม่ควรถามเรื่องเงินเดือน แต่จากที่เบนซ์เคยเจอมาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเรื่องที่แฟร์กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งเงินเดือนก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บริษัทนำมาคิดคำนวณว่าจะตกลงรับผู้สมัครหรือไม่ หากผู้สมัครไม่มีข้อมูลเรื่องเงินเดือนว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ก็สามารถหาข้อมูลคร่าวๆ ได้ที่ ลิงค์นี้

ผู้สมัครอาจจะถามถึงมุมมองของคนสัมภาษณ์ เช่น ทีมงานเป็นยังไงบ้าง คิดว่าจะเข้ากับตัวเราได้มั้ย หรือคนที่เค้าอยากทำงานด้วย (ideal employee) มีลักษณะแบบไหน

หรืออาจจะเลือกทวนเรื่องรายละเอียดงานให้มั่นใจ รวมทั้งถามเรื่องเวลาที่จะใช้ในการตอบกลับหรือผลสัมภาษณ์เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัว แต่เบนซ์อยากบอกนิดนึงว่าคำตอบที่ได้อาจจะไม่ได้ระบุชัดเจน เนื่องจากทางบริษัทต้องทำการสัมภาษณ์ผู้สมัครอื่นๆอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา

เบนซ์แนะนำ: ควรเตรียมคำถามจดลงในสมุดโน๊ต  ซึ่งในระหว่างสัมภาษณ์นั้นถ้าผู้สัมภาษณ์ได้อธิบายสิ่งที่เราจะถาม เราสามารถขีดฆ่าคำถามที่เรามี โดยในตอนสุดท้ายเราอาจจะไม่มีคำถามเหลือที่จะถามเลยก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยผู้สัมภาษณ์ก็รับรู้ได้ว่าเรามีการเตรียมคำถามไป

 

7. มารยาทที่ควรและไม่ควรทำในการสัมภาษณ์

เบนซ์อยากบอกว่าไม่ใช่แค่ที่ไทยนะ คนเยอรมันก็มีมารยาทบางอย่างที่ชอบและไม่ชอบเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการสัมภาษณ์  ผู้สมัครก็อาจจะพึงระวังไว้ เช่น ก่อนที่จะนั่งก็ควรรอให้ผู้สัมภาษณ์เชิญเรานั่ง หรือเวลาเค้าถามหรือเสนอเครื่องดื่ม ก็ให้ตอบรับไป ดื่มไม่ดื่มค่อยว่ากันทีหลัง

 

ส่วนในขณะที่กำลังสัมภาษณ์นั้น ผู้สมัครควรระวังบุคลิกบางอย่างที่อาจจะทำจนเคยชิน เช่น ชอบกดปากกา เขย่าขา พูดเอิ่มหรืออืมบ่อยๆ ไม่มองคนสัมภาษณ์  ซึ่งบุคลิกเหล่านี้อาจจะทำให้ตัวผู้สมัครมีความน่าสนใจลดลงหรือสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีก็เป็นได้

เบนซ์แนะนำ: มารยาทและบุคลิกลักษณะของเราจะช่วยสร้างหรือทำลายบรรยากาศการสัมภาษณ์ได้  เบนซ์แนะนำให้ซ้อมกับเพื่อนก่อน  โดยให้เพื่อนบอก(feedback)ว่าเป็นยังไง ควรปรับปรุงตรงไหนบ้าง เรื่องความมั่นใจในการพูด บุคลิกหรือสิ่งที่เราต้องการสื่อออกไป สามารถรับรู้ได้มั้ย

8. ควรแต่งกายอย่างไรดี

Avatar 83

เบนซ์คิดว่าควรดูการแต่งกายของเราให้เข้ากับตำแหน่งที่เราสมัครไป หรือบริษัทที่เราจะเข้าไปทำ เช่น เป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือสตาร์ทอัพ (start-up) ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องใส่สูทก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในบริษัทที่เบนซ์ทำงานอยู่นะ software engineer เค้าก็แต่งตัวสบายๆมาทำงาน ถ้าผู้สมัครมาสัมภาษณ์ตำแหน่งนี้แล้วใส่สูทมาก็อาจจะดูแปลกตาสำหรับเค้า

ผู้สมัครอาจจะศึกษาการแต่งกายจากเว็บไซต์ของบริษัทว่าพนักงานแต่งกายกันประมาณไหน เป็นทางการมากน้อยแค่ไหน เช่น สบายๆ แบบ smart casual หรือ business casual หรือเป็นทางการแบบ business ไปเลย

เบนซ์แนะนำ: แต่งกายของเราให้เข้ากับตำแหน่งที่เราสมัครไป หรือบริษัทที่เราจะเข้าไปทำ เช่น เป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือสตาร์ทอัพ (start-up) หรือหากบริษัทนั้นมีธรรมเนียมการแต่งกาย (dress code) เบนซ์แนะนำให้ค้นหาใน Google เพื่อดูว่า business casual หรือ smart casual มีรูปแบบประมาณไหน  หากบริษัทอยู่ไม่ไกล  ผู้สมัครอาจจะไปที่บริษัทล่วงหน้าเพื่อศึกษาเส้นทางรวมทั้งการแต่งกายของพนักงานที่นั่น

9. ไปก่อนเวลาสัมภาษณ์กี่นาทีดี

 

ผู้สมัครควรไปก่อนเวลาสัมภาษณ์ประมาณ 15 นาทีกำลังดี ตัวผู้สมัครจะได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจด้วย  สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งเลยคือไม่ควรประมาทเรื่องการเดินทาง เช่น รถไฟมาสาย หรือรถติด ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ ให้โทรศัพท์หรืออีเมลล์ไปแจ้งบริษัทว่าเราจะไปสายกี่นาทีหรือไม่สามารถไปได้

เบนซ์แนะนำ: ควรไปก่อนเวลาสัมภาษณ์ประมาณ 15 นาทีเพื่อใช้เวลาเตรียมตัว  หากอยู่เมืองเดียวกับบริษัทที่จะไปสัมภาษณ์  เบนซ์แนะนำให้ไปศึกษาเส้นทางก่อนล่วงหน้า พอวันที่ไปสัมภาษณ์จริงจะได้ไม่หลงทาง   

10. ควรเตรียมตัวอย่างไรในการสัมภาษณ์ออนไลน์

laptop-outline-filled-128x128.png

จริงๆแล้วโครงสร้างคำถามเหมือนกับการไปสัมภาษณ์ที่บริษัทเลย สิ่งที่สำคัญในการสัมภาษณ์ออนไลน์ คือ อุปกรณ์ทางเทคนิคต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เสียง กล้อง อินเตอร์เน็ต 

 

โปรแกรมที่จะใช้สัมภาษณ์นั้นมีหลากหลาย เช่น Google Hangouts, Skype, Microsoft Teams, Zoom, Line, WhatsApp ซึ่งทางบริษัทจะถามว่าเราสะดวกทางไหน แล้วก็จะส่งลิงค์มาให้เพื่อนัดวันเวลาสัมภาษณ์  ผู้สมัครควรทำความคุ้นเคยกับโปรแกรมโดยสามารถลองกับเพื่อนก่อน เช่น การปรับเสียง ระดับ/มุมกล้อง การเปลี่ยนพื้นหลัง และเลือกรูปโปรไฟล์ที่ดูเหมาะสมเป็นทางการ

 

สำหรับการแต่งกายนั้น  เบนซ์แนะนำว่าให้ผู้สมัครแต่งกายเหมือนไปสัมภาษณ์ปกติที่บริษัทถึงแม้จะไม่เห็นเต็มตัวก็ตาม 

เบนซ์แนะนำ: เตรียมพร้อมและทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนวันสัมภาษณ์จริง 1 วัน โดยทดสอบโปรแกรมกับเพื่อนทั้งในเรื่องเสียง มุมกล้อง   ในวันสัมภาษณ์จริงให้ผู้สมัครแต่งตัวเหมือนไปสัมภาษณ์ที่บริษัทและเตรียมตัวพร้อมก่อนเวลาสัมภาษณ์ 5 นาที 
ในกรณีที่อินเตอร์เน็ตมีปัญหา ให้เราโทรศัพท์ไปที่บริษัทเลยทันที เพื่อสอบถามว่าสามารถเปลี่ยนเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แทนได้มั้ย

Written by

Watcharaphon Yangyuen

Executive Assistant - HR

Benz Watcharaphon Yangyuen.png
bottom of page